ประวัติสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ได้เคารพนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะแห่งชีวิต สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบันที่ชาติไทยเรามีความมั่นคง ดำรงเอกราช มีอธิปไตยเป็นอิสระเสร ีอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ก็ด้วยคนในชาติยึดมั่นอยู่ในสามัคคีตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมสร้างสามัคคีธรรมระหว่งคนในชาติ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา ดังนั้น หลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศชาติ
การบริหารกิจการพระศาสนานั้น เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ แต่เนื่องจากอาณาจักรและศาสนจักร ต้องประสานกัน เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ รัฐบาลในฐานะผู้รับสนองพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ จึงเข้าไปมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานกิจการทางศาสนา ตามประวัติและพัฒนาการโดยลำดับ ดังนี้
- สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา มีราชบัณฑิต และ หมื่นราชสังฆการี รับมอบหมายภารกิจด้านการศาสนา
- ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน่วยงานรับผิดชอบ 3 หน่วยงานคือ กรมธรรมการ กรมสังฆการี และกรมราชบัณฑิต
ดวงตราสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
คำอธิบาย
ตรานี้ใช้ธรรมจักรบนฐานดอกบัว เรียกว่า "ไตรรัตนจักร" (กงล้อ คือ พระรัตนตรัย) เป็นสัญลักษณ์แทนพระรัตนตรัย คือ
(1) ดอกบัวแทนพระพุทธเจ้า ดังพระบาลีในเถรคาถาว่า "พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก แต่ไม่ติดในโลกีวิสัย ดุจดอกบัวเกิดในน้ำแต่ไม่เปียกน้ำ (ขุ.เถร. 26/388)
(2) ดอกบัวแทนพระอริยสงฆ์ ดังพุทธวจนะในธรรมบทว่า "ดอกบัวเกิดที่กองขยะที่เขาทิ้งไว้ข้างทางใหญ่ มีกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจฉันใด ท่ามกลางมหาชนผู้โง่เขลา เป็นดุจสิ่งปฏิกูลพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยปัญญาฉันนั้น" (ขุ.ธ. 25-59)
(3) ดอกบัวมี 7 กลีบ เป็นสัญลักษณ์แทนดอกบัว 7 ดอก ที่เกิดขึ้นรองรับพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อคราวประสูติ หรือสัญลักษณ์แทนโพชฌงค์ 7
(4) ธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม คือ อริยสัจสี่ อันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ที่ทรงแสดงในวันเพ็ญเดือน 8 วันที่พระรัตนตรัยครบสมบูรณ์
(5) ซี่ธรรมจักร 12 ซี่ เป็นสัญลักษณ์แทนการรู้แจ้งอริยสัจแต่ละข้อด้วยญาณ ทั้ง 3 (สัจจญาณ, กิจจญาณ, และกตญาณ) (3x4 = 12)
(6) พระบาลีในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรว่า ธมฺมจกฺกํ ปวตฺติตํ อปฺปฏิวตฺติยํ = กงล้อคือพระธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมุนไปแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้
ศ. พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
29 ตุลาคม 2545
ประวัติสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประวัติความเป็นมา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้มีส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เรียกว่า “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” จากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานพระสงฆ์และรัฐ โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ ให้แบ่งส่วนราชการระดับกองและอำนาจหน้าที่ของแต่ละกอง สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 6 กอง ประกอบด้วย กองกลาง กองพุทธศาสนศึกษา กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานศาสนสมบัติ และสำนักเลขาธิการมหาสมาคม จากการประชุมสัมมนาเรื่องนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีมติร่วมกันว่าควรมี “สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด” เป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่จะรองรับการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง สู่ส่วนภูมิภาค จึงมีคำสั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ 40/2547 ลงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2547 ให้จัดตั้ง “สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด” เป็นหน่วยงานระดับกองในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ 75 แห่ง ยกเว้น กรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในระดับจังหวัด โดยมีหน้าที่สนองงาน คณะสงฆ์ และทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์คุ้มครองส่งเสริมและพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติ รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางศาสนาในระดับจังหวัด ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2545 และประกาศใช้กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2549 เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ โดยที่สมควร จัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็น ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ขึ้นในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้การทำนุบำรุงและส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในระดับภูมิภาคเป็นไปอย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และระบุอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพของงานจึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้